สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม 2568” ครั้งที่ 19 ภายใต้แนวคิด "Real-World Impacts"
ณ ห้องประชาสังคมอุดมพัฒน์ (101) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัย มหิดล จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 19 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เวลา 08.30 - 15.45 น. ภายใต้หัวข้อ “วิจัยประชากรและสังคมสู่ Real-World Impacts (Real-World Impacts of Population and Social Research)” เพื่อเผยแพร่งาน วิจัยที่ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยข้อมูลและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์โลกจริง
ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีประชุมด้วยปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “มหาวิทยาลัยกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม (Universities as Catalysts for Social Change)” โดยชี้ให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในฐานะผู้นำทางความรู้ ที่ต้องขับเคลื่อนงานวิจัยให้เกิดผลกระทบในโลกแห่งความเป็นจริง
อธิการบดีเน้นว่า “งานวิจัยที่สร้าง Real-World Impact” ต้องมีพื้นฐานจากข้อมูลที่แม่นยำ เชื่อมโยงกับการออกแบบนโยบายสาธารณะ และตอบสนองต่อประเด็นสำคัญระดับโลก อาทิ การเป็นสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น เสนอให้ขับเคลื่อนผ่าน การทำงานแบบไร้กำแพง ข้ามสาขาวิชาและหน่วยงาน พร้อมส่งเสริมพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เช่น สุขภาพและสุขภาวะ อาหารแห่งอนาคต และโรงงานชีวภาพ (Bioplants) โดยมุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ยังได้เน้นถึง ความสำคัญของนวัตกรรมทางการศึกษา เช่น หลักสูตรแบบ Non-degree, Micro-credentials และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อเตรียมคนให้พร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นแบบอย่างของความยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและการส่งเสริมสุขภาพองค์รวม ตั้งแต่การดูแลก่อนคลอดไปจนถึงการดูแลผู้สูงอายุ พร้อมเสนอแนวคิด “ป่วยสั้น ตายสงบ งบไม่บาน” เพื่อส่งเสริมระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุด อธิการบดีเสนอให้มหาวิทยาลัยไทยก้าวข้ามการวัดผลสำเร็จแบบเดิม เช่น จำนวนผลงานตีพิมพ์ ไปสู่การนิยามใหม่ของ “ผลกระทบ” ที่เชื่อมโยงกับ นโยบายสาธารณะ เศรษฐกิจ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
จากนั้น ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยที่นำไปสู่ผลกระทบเชิงนโยบายในโลกจริง (Real-World Impacts) โดยเสวนาโต๊ะกลมเวทีแรก “EQUALITY สังคมที่ทุกคนเท่าเทียม” ดำเนินรายการโดย ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) มีการย้ำถึงความสำคัญของการใช้ข้อมูลประชากรในระดับพื้นที่เพื่อออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นประชากรสูงวัยที่กำลังทวีความสำคัญในสังคมไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิดา ชวนวัน นำเสนอผลงานสะท้อนการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วยการใช้ข้อมูลประชากรเพื่อขับเคลื่อนสังคมสูงวัยอย่างมีพลัง “โปรแกรมพีระมิดประชากร” (Population Pyramid Program - PPP) ซึ่งได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ อปท. ในการมองเห็นโครงสร้างประชากรของตนเองแบบ เรียลไทม์ ทั้งด้านอายุ เพศ และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเชิงประชากร โดยได้มีการนำร่องใช้ PPP ใน 20 อปท. จังหวัดนครปฐม พบว่า
- โปรแกรมช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถ ตีความข้อมูลประชากรเพื่อใช้กำหนดนโยบายและจัดบริการที่ตรงจุด
- โดยเฉพาะการ ออกแบบบริการสุขภาพและสังคมที่รองรับประชากรสูงวัย ได้อย่างครอบคลุม มีเป้าหมาย และยั่งยืน
- และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมพลังให้ อปท. ใช้ “ข้อมูล” ขับเคลื่อน “การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่” ได้ด้วยตนเอง
เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รศ. ดร.ศุทธิดา เสนอให้ขยายการอบรม PPP ไปยัง อปท. ทั่วประเทศ เชื่อมโยงโปรแกรมเข้ากับตัวชี้วัดการประเมินผลของ อปท. และจัดตั้ง “หน่วยบูรณาการนโยบายข้อมูล” ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อสนับสนุนให้การใช้ข้อมูลประชากรกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการวางแผนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
“การใช้ข้อมูลเพื่อความเท่าเทียม ก็จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่สามารถเริ่มต้นได้จากระบบที่เข้าใจง่าย ใช้ได้จริง และ เชื่อมโยงข้อมูลกับชีวิตคนในพื้นที่” รศ. ดร.ศุทธิดา กล่าวย้ำบนเวที
เสวนาโต๊ะกลมเวทีที่ 2 “ENDING NCDs สุขภาพที่มาจากพฤติกรรมส่งเสริมร่วมกัน” มุ่งเน้นหาแนวทางป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เช่น การลดน้ำตาล ลดโซเดียม การควบคุมการตลาดอาหารต่อเด็ก การจัดซื้ออาหารกลางวันโรงเรียน และการส่งเสริมกิจกรรมทางกายทุกช่วงวัย ดำเนินรายการโดย ดร.สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ แนวทางการจัดซื้ออาหารกลางวันของโรงเรียนที่เชื่อมโยงกับระบบอาหารชุมชน โดยอาจารย์ ดร. สพญ.สรัญญา สุจริตพงศ์ ซึ่งแนวทางนี้ไม่เพียงช่วยส่งเสริมสุขภาวะในเด็ก แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเกษตรกรในท้องถิ่น และสนับสนุนระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยจากการวิจัยพบว่า โรงเรียนที่นำหลักการจัดซื้อจัดจ้างโดยคำนึงถึงคุณค่าด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และโภชนาการ ควบคู่ไปกับราคา มีแนวโน้มสามารถ ยกระดับคุณภาพอาหารเด็ก ลดการพึ่งพาห่วงโซ่อาหารที่ยาว และส่งเสริมความโปร่งใสในการใช้งบประมาณของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ระบบจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดหลายด้าน เช่น งบประมาณจำกัดทำให้โรงเรียนต้องเลือกซื้อตามราคาต่ำที่สุด การบริหารจัดการกับเกษตรกรโดยตรงมีความยุ่งยากและเพิ่มภาระงาน และการขาดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน รวมถึงเครื่องมือสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลง
ข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญ จากงานวิจัย ได้แก่
- ให้ภาครัฐออกกฎระเบียบเฉพาะสำหรับการจัดซื้ออาหารที่ส่งเสริม “ระบบอาหารยั่งยืน”
- จัดทำ “ระบบรางวัล” หรือกลไกสนับสนุนโรงเรียนที่สามารถเชื่อมโยงกับเกษตรกรในชุมชน
- ใช้คุณค่าอื่น ๆ นอกเหนือจากราคา เช่น ความโปร่งใส โภชนาการ และผลกระทบต่อชุมชน เป็นเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง
- กำหนด ตัวชี้วัดประสิทธิภาพใหม่ สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่จัดบริการอาหารให้สะท้อนคุณค่าดังกล่าว
“การจัดซื้ออาหารกลางวันแบบเชื่อมโยงกับชุมชน ช่วยลดห่วงโซ่อาหารและเสริมความโปร่งใส เป็นกลไกที่ส่งเสริมสุขภาวะเด็ก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” อ. ดร. สพญ.สรัญญา กล่าวเน้นย้ำบนเวที
งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า หากมีระบบสนับสนุนที่ชัดเจน การจัดซื้ออาหารกลางวันของโรงเรียนจะกลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีพลังมากที่สุดในการ ยุติปัญหา NCDs ตั้งแต่ในวัยเด็ก และเป็นจุดเริ่มต้นของ ระบบอาหารที่เป็นธรรมและยั่งยืนในระยะยาว
เสวนาโต๊ะกลมเวทีสุดท้าย “HEALTH CARE & AIR QUALITY สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อสุขภาพใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องเดินไปพร้อมกัน งานวิจัยที่นำเสนอ ได้แก่ “Being Family” ภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงมุมมองครอบครัว “MU BullyGuard” แอปพลิเคชันส่งเสริมสุขภาพใจวัยรุ่น “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” และทางออกลดการเผาอ้อย ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ที่ความเครียดและความซับซ้อนในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวคิด “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” กลายเป็นต้นแบบสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม สุขภาวะและคุณภาพชีวิต ของบุคลากรและนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต นำเสนอ พัฒนาการของเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 70 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมเป็นภาคี และขับเคลื่อนผ่านหลักสูตร “นักสร้างสุข” การบริหารจัดการความรู้ และการสร้างสมดุลชีวิตกับการทำงาน ผลการดำเนินงาน พบว่า องค์ประกอบของ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ครอบคลุมทั้งคุณภาพชีวิต ความพึงพอใจในงาน ความสุขของบุคลากร ความผูกพันองค์กร และความสมดุลระหว่างชีวิตกับการเรียน/การทำงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม ผลิตภาพของบุคลากร และความผูกพันต่อองค์กร
อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักศึกษายังคงเป็นกลุ่มที่ ขาดกลไกสนับสนุนด้านสุขภาวะอย่างครอบคลุม และจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความท้าทายของชีวิตวัยเรียนในยุคปัจจุบัน
ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวง อว. ได้แก่
- สร้างระบบเฝ้าระวังสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีในมหาวิทยาลัย
- พัฒนากลไกการสร้าง “แกนนำมหาวิทยาลัยแห่งความสุข” อย่างเป็นระบบ
- ใช้ฐานข้อมูลเพื่อกำหนด “มาตรฐานกลาง” สนับสนุนระบบประกันคุณภาพ
- ขยายความร่วมมือในเครือข่ายมหาวิทยาลัยแห่งความสุข
- สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาวะเชิงวิชาการ
“มหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงพื้นที่ของความรู้ แต่ควรเป็นพื้นที่ของ ‘คุณภาพชีวิต’ ที่ดีสำหรับทุกคน” รศ. ดร.ศิรินันท์ เน้นย้ำบนเวที
แนวทางนี้สะท้อนความมุ่งหวังที่จะ ยกระดับสุขภาวะของทุกคนในระบบอุดมศึกษา และทำให้ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ไม่ใช่แค่แนวคิด แต่เป็นนโยบายที่วัดผลได้และยั่งยืน
No comments