Header Ads

ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทย์ ม.มหิดล ผนึกกำลังภาคการศึกษาและภาคเอกชนระดมทุนจัดตั้งกองทุน 84 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เสริมสร้างศักยภาพของประเทศเพื่อรับมือโรคอุบัติใหม่


ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน "84 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ: คุณูปการและแรงบันดาลใจสู่วงการวิทยาศาสตร์" ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ ผนึกกำลังภาคการศึกษาและภาคเอกชนระดมทุนจัดตั้งกองทุน 84 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ เพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านจุลชีววิทยา วิทยาภูมิคุ้มกัน และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยในระดับนานาชาติ เสริมสร้างศักยภาพของประเทศและในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่



ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 ไวรัสกลายพันธุ์ และการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ โครงสร้างพื้นฐาน และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ การจัดงานครั้งนี้จึงไม่เพียงเป็นการเชิดชูเกียรติบุคคลสำคัญ แต่ยังเป็นก้าวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ไทยในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบรับมือโรคอุบัติใหม่อีกด้วย


ศาสตราจารย์ นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานจัดงาน กล่าวว่า
“ในงานนี้ เราได้ระดมทุนเพื่อจัดตั้ง กองทุน 84 ปี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 และการแพร่ระบาดของเชื้อดื้อยา โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านจุลชีววิทยา วิทยาภูมิคุ้มกัน และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานระดับนานาชาติ โครงสร้างของกองทุนนี้ได้รับการออกแบบให้มีความต่อเนื่องและมีส่วนในการพัฒนาศักยภาพรวมถึงบำรุงรักษาเครื่องมือของงานวิจัยที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรับมือกับโรคอุบัติใหม่ 


ทั้งนี้ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือ ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับที่ 3 (Biosafety Level 3 Laboratory), ศูนย์วิจัยจีโนมจุลินทรีย์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พรชัย มาตังคสมบัติ (CENMIG) มหาวิทยาลัยมหิดล และ Single Cell Genomics Facility ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการศึกษาวิจัยโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ทั้งในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยโครงสร้างเหล่านี้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา


ศาสตราจารย์ นพ. ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพระดับนานาชาติ
พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการงานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรองรับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ โดยกล่าวว่า “การเตรียมความพร้อมด้านงานวิจัย เทคโนโลยี และบุคลากรคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยมหิดลมุ่งมั่นในการเป็นศูนย์กลางของความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถสร้างผลกระทบระดับโลก”


งานนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรด้านวิทยาศาสตร์ที่มาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์และแนวทางพัฒนาอนาคตของวงการวิทยาศาสตร์ไทย
อาทิ ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 


โดยได้กล่าวถึงบทบาทของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ ในการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานการศึกษาวิจัยในประเทศไทย เช่น สทวช. สสวท. สภากาชาด และพร้อมกันนี้ยังมีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้นำด้านนโยบายและนวัตกรรมจากทั้งภาคการศึกษาและภาคเอกชนร่วมแสดงความยินดีและการกล่าวคำอวยพรอย่างล้นหลาม


การวิจัยที่แข็งแกร่งและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนคือกุญแจสำคัญในการรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ คือหนึ่งในผู้ที่บุกเบิกเส้นทางนี้ให้กับประเทศไทย การก่อตั้งกองทุนครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการระดมทุน แต่เป็นการส่งสัญญาณไปยังสังคมว่า ประเทศไทยจะต้องมีระบบสนับสนุนการวิจัยที่แข็งแกร่ง เพื่อรักษาความมั่นคงทางชีวภาพ และปกป้องมนุษยชาติจากภัยคุกคามด้านสุขภาพในอนาคต


No comments

Powered by Blogger.